กรมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าส่งเสริมสินค้าไทยสู่ตลาดโลก

เศรษฐกิจ

กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในเวทีนานาชาติ เผย ส่งออกข้าวเดือนม.ค.พุ่ง 78.76%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในการบุกตลาดที่มีศักยภาพ และสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ในการสร้างมูลค่าการค้าของไทยให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับติดตามการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อปกป้องและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กรมได้เร่งส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญต่าง ๆ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง รวมถึงการยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างกว้างขวางและสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค

โดยในส่วนของมันสำปะหลัง กรมได้ร่วมกับสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงาน ผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference หรือ WTC 2023) ระหว่างวันที่ 23 – 25 ก.พ. 2566 ที่จังหวัดนครราชสีมา

เศรษฐกิจ

ภายในงานนี้ได้มีการลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังล่วงหน้ากับผู้นำเข้าคือ จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และตุรกี 2 ล้านตัน เทียบเท่า 4.76 ล้านตันหัวมันสด มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่า ช่วยสร้างความมั่นใจว่าราคาหัวมันสดของไทยจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ สถิติการส่งออกมันสำปะหลังเดือนม.ค. 2566 มีมูลค่า 11,554.94 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.03%

ด้านการผลักดันการส่งออกข้าว ทางกรมได้ เข้าร่วมงาน BIOFACH 2023 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 – 17 ก.พ. ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐ โดยได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการและแสดงตัวอย่างสินค้าข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ของไทยชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทยอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ แป้งข้าวอินทรีย์ เครื่องดื่มจากข้าวอินทรีย์ และขนมอบกรอบที่ทำจากข้าวอินทรีย์ เป็นต้น

รวมทั้งจัดให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและผู้นำเข้าจากต่างประเทศภายในงานอีกด้วย คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าคำสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ไทยกว่า 14 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ไทยอีกกว่า 10 ล้านบาท

นอกจากนี้แนวโน้มการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปี 2564 และเริ่มชะลอตัวในปี 2565 เนื่องจากรายได้ของผู้บริโภคลดลงและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2566 เกษตรอินทรีย์ในยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร มีทิศทางเติบโตแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น